เรื่องปวดหัวอีกเรื่องสำหรับนักศึกษาต่างชาติในสหราชอาณาจักร ก็คือการหาที่พักดี ๆ ที่เหมาะกับเรา แต่ก็ใช่ว่าจะมืดแปดด้านไปเสียทั้งหมด นอกเหนือไปจากการพึ่งพาเอเยนต์แล้ว นี่คือ 5 สิ่งที่ต้องรู้เอาไว้ เพื่อความสบายใจไร้กังวลก่อนตกลงเซ็นต์สัญญาเช่าใด ๆ
1. ตัวแทนจัดหาที่พัก
การเช่าที่พักของมหาวิทยาลัยระหว่างการศึกษา หากน้องๆ ทำการเช่าผ่านตัวแทน นายหน้าหรือเอเยนต์ ลองหาข้อมูลราคากลางของค่าบริการต่างๆ เช่น ค่ามัดจำแรกเข้า ค่าประกัน ค่าย้ายออก หรือค่าทำความสะอาด แล้วนำมาเปรียบเทียบกัน ยกตัวอย่าง ค่าเช็คเครดิตโดยเอเยนต์ ที่ต้องจ่ายจริง ๆ ทั่วไปอยู่ที่ 10 -20 ปอนด์ (ประมาณ 440 – 880 บาท) ต่อคน เป็นต้น หากน้อง ๆ ถูกเรียกจ่ายค่าดำเนินการหาที่พักที่ไม่เป็นธรรม หรือไม่ถูกต้องตามที่มหาวิทยาลัยเรียกเก็บ ลองขอความช่วยเหลือจาก university accommodation office ของน้อง ๆ ได้เช่นกัน
2. ค่าเช่า
ในส่วนของค่าเช่า น้อง ๆ สามารถเจรจาต่อรองลงได้อีกจากที่เจ้าของประกาศไว้ ลองสืบราคาจากผู้เช่าเก่าหรือคนรู้จักได้ ส่วนข้อมูลของห้องเช่าและเจ้าของ แนะนำให้ตรวจสอบจากเว็บ studentpad.co.uk ซึ่งจะมีลิสต์รายชื่อที่พักที่ได้รับการแนะนำ สอบถามข้อมูลต่างๆ ทั้งราคา ข้อดีข้อเสีย ความสะดวกสบาย หรือสภาพของที่พักจริง ๆ เพราะแหล่งข้อมูลที่ดีที่สุดก็คือผู้เช่าปัจจุบันนี่แหละ อีกเว็บที่อยากแนะนำคือ mypropertyguide.co.uk ที่เขาจะมีลิสต์รายการต่าง ๆ ที่นักเรียนต่างชาติมักมองข้ามในสัญญาให้ได้ตรวจทานกัน
3. สัญญาการเช่า
สัญญาเช่าในอังกฤษส่วนใหญ่จะมีระยะเวลาประมาณ 12 เดือน และมักเป็นสัญญาแบบ assured shorthold tenancy หรือสัญญาเช่าช่วงถาวร ที่ผู้เช่าทุกคนต้องรับผิดชอบร่วมกัน หมายความว่า หากน้องๆ ทำสัญญาเช่าร่วมกับเพื่อนหรือใครก็แล้วแต่ มีคนใดคนหนึ่งไม่ยอมจ่ายในส่วนของตัวเอง น้อง ๆ หรือผู้ปกครองก็ต้องเป็นคนรับผิดชอบค่าเช่าทั้งหมดให้กับเจ้าของผู้ให้เช่าจนครบ และจะเลิกสัญญาก่อนครบหนึ่งปีไม่ได้ แต่ academic year โดยทั่วไปจะอยู่ที่ประมาณ 9 เดือน ถ้าอยากได้สัญญาที่ระยะเวลาน้อยกว่านั้น แนะนำให้ลองหาที่พักที่อยู่ห่างออกไปจากย่านที่พักนักศึกษาสักหน่อยก็อาจจะพอมี ทั้งนี้ ผู้เช่าหรือเจ้าของสามารถยกเลิกสัญญาโดยแจ้งล่วงหน้าได้ประมาณ 2 เดือนหลังผ่านครึ่งปีมาแล้ว กรณีมีฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งทำผิดสัญญา
4. ค่ามัดจำ/ ค่าประกันความเสียหาย
ตั้งแต่ต้นปี 2007 เป็นต้นมา รัฐบาลอังกฤษออกกฏหมายบังคับให้เจ้าของที่พักหรือผู้ให้เช่า ต้องนำเงินค่ามัดจำหรือ deposit ที่ผู้เช่าจ่ายให้ นำฝากไว้ในธนาคารที่รัฐได้รับรองไว้ หากผู้ให้เช่าไม่นำฝากหรือไม่แจ้งผู้เช่าว่าได้นำฝากแล้วภายใน 14 วัน หลังจากที่ได้รับเงินค่ามัดจำจากผู้เช่า เท่ากับเป็นการทำผิดกฏหมาย ดังนั้นน้อง ๆ ต้องตรวจสอบเอกสารให้ชัดเจน เมื่อสิ้นสุดระยะเวลา 12 เดือน น้อง ๆ จะต้องได้เงินก้อนนี้คืน โดยมีการหักค่าเสียหายอย่างเป็นธรรม หากมีข้อสงสัยหรือไม่ได้รับความสะดวก ก็สามารถร้องเรียนได้โดยไม่เสียค่าใช้จ่ายตามแผนคุ้มครองผู้บริโภคเดิม ดูรายละเอียดได้ที่ direct.gov.uk และเว็บไซต์ของสหภาพนักศึกษา nus.org.uk
5. รายการข้าวของเครื่องใช้และเฟอร์นิเจอร์ต่าง ๆ ภายในห้อง
เมื่อตกลงใจได้และทำสัญญาแล้ว ก่อนย้ายเข้าอยู่ ให้น้อง ๆ ทำรายการข้าวของเครื่องใช้ภายในห้องทุกอย่าง (List of Content) ห้ามขี้เกียจเด็ดขาด โดยจดบันทึกและถ่ายรูปประกอบเป็นรูปเล่ม เก็บไว้เป็นหลักฐาน ตั้งแต่ ฝารองนั่งชักโครกว่าอยู่ในสภาพที่ใช้งานได้หรือไม่ เฟอร์นิเจอร์ พรม ผ้าม่าน มีรอยหรือมีตำหนิอะไรตรงไหน แล้วลงรายชื่อพร้อมกับให้เจ้าของที่พักหรือนายหน้าลงลายมือรับรองไว้เป็นหลักฐาน ป้องกันการเกิดข้อพิพาทเมื่อถึงคราวต้องคืนเงินมัดจำ เช่นเดียวกัน หากมีการซ่อมแซมเฟอร์นิเจอร์อะไรเพิ่มเติม ก็ต้องให้มีหลักฐานเป็นลายลักษณ์อักษรไว้ด้วย
Study in the UK
หากน้อง ๆ มีข้อสงสัยหรือความสนใจที่จะเรียนต่อมหาวิทยาลัยใน UK หรืออยากสอบถามข้อมูลหลักสูตรเพิ่มเติม สามารถลงทะเบียนติดต่อขอรับ คำปรึกษาจากผู้เชี่ยวชาญของ SI-UK ได้ฟรี