แต่ละปี มีนักเรียนในสหราชอาณาจักรนับแสนคน (ยังไม่รวมนักศึกษาต่างชาติ) ที่กำลังอยู่ในขั้นตอนของการสมัครเรียนและมองหาที่นั่งในมหาวิทยาลัยต่างๆ สำหรับเด็กหลายๆ คน นี่คือการเลือกครั้งสำคัญ ที่สามารถกำหนดและสร้างความแตกต่างให้กับชีวิต การทำงาน และรายได้ในอนาคตได้เลยทีเดียว
ในสหราชอาณาจักร อ้างอิงจากการรายงานของ BBC ซึ่งพูดถึงเรื่องของค่าใช้จ่ายทางการศึกษาที่สูงขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกลุ่มมหาวิทยาลัยระดับท็อปของประเทศนั้น โดยเฉลี่ยแล้ว นักศึกษาในอังกฤษจะมีหนี้สินหลังจบการศึกษาประมาณคนละ 50,000 ปอนด์ ซึ่งมากกว่านักศึกษาในส่วนอื่นของสหราชอาณาจักรอย่าง สก็อตแลนด์ เวลส์ หรือไอร์แลนด์ อยู่ประมาณหนึ่ง แต่นักศึกษาและผู้ปกครองส่วนหนึ่ง ก็เลือกที่จะยอมเป็นหนี้อย่างไม่ลังเล เพราะการเรียนจบจากมหาวิทยาลัยระดับท็อป หมายถึงการลงทุนที่ให้ผลตอบแทนในระยะยาว ทั้งด้านก้าวหน้าในอาชีพ และค่าตอบแทน หลังจากจบการศึกษา
photo: mrbudgetphotography, pixabay
ส่วนในบทความชิ้นนี้ เราจะมาพูดถึงปัจจัยที่มีผลต่อการสร้างรายได้ในอนาคตที่ BBC ได้นำเสนอไว้ อันได้แก่ การเลือกมหาวิทยาลัย การเลือกสาขาที่จะเรียน และข้อแตกต่างด้านเพศ เพื่อเป็นแนวทางสำหรับน้องๆ ที่กำลังวางแผนจะไปศึกษาต่อที่สหราชอาณาจักรในอนาคตครับ
ปัจจัย 1# การเลือกมหาวิทยาลัย
จากการสำรวจของ BBC หลายๆ คนอาจไม่รู้สึกเซอร์ไพรส์ หากพูดถึงมหาวิทยาลัยที่มีจำนวนบัณฑิตโดยเฉลี่ยสามารถสร้างรายได้มากที่สุด เพรายังไงก็ต้องเป็นมหาวิทยาลัยระดับท็อปอยู่แล้ว แต่ที่น่าจะเซอร์ไพรส์กว่าคือเรื่องที่ว่า แม้แต่ในสหราชอาณาจักรเอง ก็มีความแตกต่างอย่างมากทางด้านรายได้ สำหรับคนที่จบจากมหาวิทยาลัยต่างกลุ่มกัน (อ่าน 4 มหาวิทยาลัยชั้นนำเกาะอังกฤษ ที่ติด Top 10 University QS Ranking 2018 เพิ่มเติม)
จากข้อมูล ห้าปีหลังจากสำเร็จการศึกษา รายได้เฉลี่ยต่อปีสำหรับบัณฑิตที่เคยเรียนที่มหาวิทยาลัย อย่าง London School of Economics, Imperial College London และ University of Oxford เฉลี่ยแล้ว คือมากกว่า 40,000 ปอนด์
รองลงมาคือ บัณฑิตที่สำเร็จการศึกษาจาก 24 มหาวิทยาลัยใน Russell Group ซึ่งมีรายได้เฉลี่ยประมาณ 33,500 ปอนด์ต่อปี ซึ่งเป็นรายได้เฉลี่ยที่สูงกว่ารายได้เฉลี่ยของบัณฑิตที่จบจากมหาวิทยาลัยอื่น ๆ (หลังจากทำงานไปได้ 5 ปี) ถึงประมาณ 40%
และที่อยู่ท้ายของตารางรายได้ ได้แก่วิทยาลัยเฉพาะด้านเล็กๆ ที่ส่วนใหญ่จะเป็น dance and drama colleges ที่มีรายได้เฉลี่ยต่อปีน้อยที่สุด คือที่ประมาณ 15,000 ปอนด์ต่อปี แต่ไม่ได้หมายความว่าตัวเลขรายได้เหล่านี้ขึ้นอยู่กับสถาบันหรือคุณภาพของมหาวิทยาลัยซะทีเดียว
ความแตกต่างทางด้านรายได้เหล่านี้ อาจเกิดจากบัณฑิตเอง ความสนใจรวมถึงความสามารถของแต่ละคนที่แตกต่างกันออกไป ยกตัวอย่างเช่น เด็กที่หัวดี ที่เลือกเรียนในมหาวิทยาลัยระดับท็อป ก็มักจบออกมาประสบความสำเร็จในจำนวนที่มากกว่า ล้มเหลวน้อยกว่า เป็นต้น แต่ส่วนสำคัญที่สามารถสร้างความแตกต่างทางด้านรายได้หลังจบการศึกษาอีกประการหนึ่ง ได้แก่ “การเลือกสาขาวิชาที่เรียน”
ปัจจัย #2 การเลือกสาขาวิชา
แน่นอนที่สุดว่า การตัดสินใจเลือกสาขาวิชานี่แหละ ที่สำคัญมากที่สุดต่อการกำหนดรายได้ในอนาคต (อ่าน 10 อันดับสาขาวิชา ที่มีโอกาสได้งานสูงที่สุดในประเทศอังกฤษ ประจำปี 2018 เพิ่มเติม)
ห้าปีหลังสำเร็จการศึกษา ช่องว่างระหว่างรายได้ของบัณฑิตจะเห็นได้อย่างชัดเจนยิ่งขึ้น ระหว่างบัณฑิตที่เลือกเรียนในสาขาวิชาที่เป็นที่ต้องการและรายได้สูง (เช่น สาขาทางด้านการแพทย์) และสาขาวิชาที่มีการแข่งขันสูงและค่าตอบแทนต่ำ (เช่น สาขาทางด้านศิลปศาสตร์และมนุษยศาสตร์)
ในสหราชอาณาจักร ผู้สำเร็จการศึกษาด้านแพทยศาสตร์ และทันตแพทยศาสตร์ มีรายได้เฉลี่ยประมาณ 46,700 ปอนด์ ในขณะที่ผู้ที่สำเร็จการศึกษาด้านเศรษฐศาสตร์ จะมีรายได้เฉลี่ยอยู่ที่ประมาณ 40,000 ปอนด์ ซึ่งคิดเป็นสองเท่าของรายได้เฉลี่ยของผู้ที่สำเร็จการศึกษาทางด้าน creative arts ที่มีรายได้เฉลี่ยประมาณ 20,100 ปอนด์, สาขาเกษตรศาสตร์ ที่มีรายได้เฉลี่ย 22,000 ปอนด์ และนิเทศศาสตร์ ที่มีรายได้เฉลี่ยเพียง 22,300 ปอนด์ ในปัจจุบัน
ความแตกต่างเหล่านี้ถึงจะดูเล็กน้อยมาก แต่ยังคงมีนัยสำคัญ แม้แต่ในนักเรียนที่มีคะแนน A – Level เท่ากัน แต่เลือกเรียนในสาขาที่ต่างกัน ยิ่งนานวัน ความก้าวหน้าทางด้านอาชีพเพิ่มมากขึ้นเท่าไหร่ ช่องว่างทางด้านรายได้ระหว่างสาขาก็ยิ่งเพิ่มมากขึ้นเท่านั้น
ยกตัวอย่างที่ London School of Economics 10% ของบัณฑิตที่เลือกเรียนสาขานิติศาสตร์ เศรษฐศาสตร์ และบริหารธุรกิจ จะมีรายได้มากกว่า 300,000 ปอนด์ต่อปี เมื่อย่างเข้าสู่วัย 30 เป็นต้น
ปัจจัย #3 ข้อแตกต่างด้านเพศ
นอกเหนือไปจากเรื่องของการเลือกมหาวิทยาลัยและสาขา ที่มีส่วนสำคัญต่อรายได้ในอนาคตแล้ว ยังมีเรื่องของ Gender หรือเรื่องเพศ ที่มีส่วนสำคัญต่อการกำหนดรายได้ อย่างที่น้องๆ คงพอจะนึกออกว่า ผู้ชายมักจะมีรายได้มากกว่าผู้หญิง
อย่างใน UK ก็สามารถเห็นได้อย่างชัดเจนตั้งแต่ปีแรกๆ คือบัณฑิตชายจะมีรายได้มากกว่าบัณฑิตหญิงประมาณ 1,500 ปอนด์ต่อปี คิดเป็น 8% ของความต่าง และยิ่งเห็นได้ชัดขึ้นเมื่อผ่านไป 5 ปี คืออยู่ที่ประมาณ 3,500 ปอนด์ หรือคิดเป็น 14% และช่องว่างดังกล่าว ยังมีแนวโน้มที่จะเพิ่มขึ้นตามอายุ (ในขณะที่การศึกษาในบรรดาผู้ที่มีการศึกษาต่ำกว่าระดับมหาวิทยาลัย พบว่ามีช่องว่างของรายได้ระหว่างเพศชายและเพศหญิงน้อยกว่า)
สาเหตุส่วนหนึ่งของช่องว่างทางด้านรายได้หลังจบการศึกษานี้ สามารถอธิบายได้ด้วยเรื่องของความแตกต่างในการเลือกสาขาวิชาเรียน โดยที่ผู้หญิง มักจะเลือกหลักสูตรที่ก่อให้เกิดรายได้ที่ไม่สูงนัก เช่น ด้านศิลปะ creative arts พยาบาล จิตวิทยา มนุษย์ศาสตร์และสังคมศาสตร์ เป็นต้น ซึ่งมักจะมีจำนวนนักศึกษาหญิงมากกว่านักศึกษาชาย ในขณะที่ผู้ชายมักเลือกเรียนในสาขาที่ให้ค่าตอบแทนสูง เช่น สถาปัตยกรรม คอมพิวเตอร์ และวิศวกรรมศาสตร์ เป็นต้น
มาถึงตรงนี้ หวังว่าน้องๆ ที่กำลังมองหาตัวเลือก ทั้งเรื่องของมหาวิทยาลัยและหลักสูตร หรือกำลังต้องการตัวช่วยในการตัดสินใจ คงพอจะได้ไอเดียในการเลือกมหาวิทยาลัยและสาขาที่จะเรียนกันไม่มากก็น้อยนะครับ อย่างไรก็ดี เรื่องของรายได้ ไม่ใช่ปัจจัยเดียวที่มีผลต่ออนาคตของเราเท่านั้น ยังมีปัจจัยอื่นๆ ที่สำคัญไม่ยิ่งหย่อนกว่ากัน เช่น ความสุข สภาพแวดล้อมที่เราอยากอยู่อาศัย สิ่งที่เราอยากเรียนรู้และอยากทำจริงๆ ฯลฯ เป็นต้น ซึ่งพี่ๆ ก็อยากให้น้องๆ เลือกสาขาที่ใช่สำหรับตัวเองที่สุด สาขาที่เราคิดว่าเรียนแล้วจะมีความสุข และสามารถเรียนได้จริงๆ ชั่งน้ำหนักระหว่างข้อมูลต่างๆ และเลือกมหาวิทยาลัยและหลักสูตรที่เราจะไม่รู้สึกเสียใจและเสียดายในอนาคตครับ (อ่าน เลือกมหาวิทยาลัยอย่างไร ให้ตรงกับใจและเหมาะกับคุณ เพิ่มเติม)
Cr. BBC News
สำหรับน้องๆ ท่านใด ที่สนใจสมัครเรียนในระดับมหาวิทยาลัยใน UK หรือต้องการทราบข้อมูลเพิ่มเติม สามารถ ลงทะเบียนเพื่อขอรับคำปรึกษา จากพี่ๆ ผู้เชี่ยวชาญด้านการศึกษาต่อสหราชอาณาจักรของ SI-UK ได้ทุกวัน โดยไม่มีค่าใช้จ่ายใดๆ ครับ
บทความอื่นๆ ที่น่าสนใจ
5 มหาวิทยาลัยตัวท็อปของอังกฤษ!
10 คอร์สเรียน ที่ได้รับความนิยมมากที่สุดใน UK
10 หลักสูตรที่นักศึกษาต่างชาตินิยมเรียนที่สุด ใน UK (อังกฤษ ไอร์แลนด์เหนือ เวลล์ และ สก็อตแลนด์)