เราเข้าใจดีว่า การต้องจากบ้านเกิดเมืองนอนและสภาพแวดล้อมที่คุ้นเคย ไม่ใช่เรื่องง่ายเลยที่จะปรับตัวให้ได้ในระยะเวลาอันสั้น ทั้งยังมีหลักฐานที่เพิ่มขึ้นมากมายในแต่ละวัน ซึ่งชี้ชัดว่าความรู้สึกเหงาและโดดเดี่ยวนั้น มันมีผลกระทบต่อสุขภาพและการเรียนของเราได้จริง ๆ
ชีวิตในมหาวิทยาลัยไกลบ้าน อาจเป็นสถานการณ์ที่ยากที่สุดสำหรับน้อง ๆ หลายคน ความเครียดทั้งจากสภาพแวดล้อม การเรียน เดดไลน์ต่าง ๆ ประดังประเดมาจากทุกทิศทุกทาง อาจส่งผลกระทบทั้งทางร่างกายและจิตใจ การจะเอาชนะความเครียด ความเหงา และอาการคิดถึงบ้านไม่ใช่เรื่องง่าย แต่ก็พอจะมีวิธีจัดการให้คลี่คลายลงไปได้บ้าง คำแนะนำต่อไปนี้ หวังว่าจะเป็นประโยชน์สำหรับน้องๆ ที่กำลังอยู่เผชิญกับภาวะเหงา เศร้า หดหู่ จากการเรียนและระยะทางซึ่งไกลจากบ้าน ไม่มากก็น้อยครับ
ทำกิจกรรมชมรม หรือเข้าสังคม
นักศึกษามหาวิทยาลัยโดยทั่วไปมักจะชอบนัดกันไปสังสรรค์ แฮงค์เอาท์ ดื่มเหล้าเข้าผับ ซึ่งเป็นกิจกรรมยอดนิยมและสร้างความสนิทสนมต่อกันได้ไวที่สุด แต่ถ้าน้องๆ คือคนที่ไม่ชอบดื่ม ไม่ชอบเที่ยว แล้วถูกเพื่อนๆ ทิ้งไว้ข้างหลังให้รู้สึกโดดเดี่ยวล่ะ เราจะจัดการกับสถานการณ์แบบนี้ได้ยังไง
อีกหนึ่งทางเลือกก็คือ การเลือกเข้าชมรม หรือทำกิจกรรมทางสังคมต่างๆ ของมหาวิทยาลัยนั่นเองครับ โยเฉพาะอย่างยิ่งกิจกรรมการกุศลต่าง ๆ การได้ช่วยเหลือคนอื่นๆ หรือสร้างสรรค์สังคมให้น่าอยู่ขึ้น คือวิธีที่ยอดเยี่ยมจะช่วยให้น้อง ๆ รู้สึกดีขึ้น และเป็นการเปิดโอกาสให้กับตัวเองได้รู้จักกับเพื่อนใหม่ๆ ลองดูประกาศกิจกรรมต่าง ๆ ในเว็บไซต์ ห้องสมุดของมหาวิทยาลัย หนังสือพิมพ์ท้องถิ่น ชมรมกลางหรือ Student Union ณ มหาวิทยาลัยที่น้อง ๆ ศึกษาอยู่ก็ได้
สำหรับน้อง ๆ ป.โท ด้วยเวลาเรียนที่รัดตัว อาจจะหาโอกาสที่จะทำกิจกรรมเพื่อสังคมหรือกิจกรรมชมรมได้ยาก การได้ออกไปศึกษานอกมหาวิทยาลัยบ้าง หรือการออกกำลังกาย ไปยิม ไปคลาสโยคะ ฯลฯ ก็ถือเป็นอีกตัวเลือกหนึ่ง ที่สามารถลดความเครียดหรือความเหงาไปได้เช่นกัน
สร้างความสัมพันธ์กับสภาพแวดล้อมใหม่ อย่างค่อยๆ เป็น ค่อยๆ ไป
ที่ต่างประเทศ คนที่จะคอยซัพพอร์ตเราอย่างครอบครัวหรือเพื่อนสนิท อาจไม่ได้มีเวลาจะมาคอยรับฟังสารทุกข์สุกดิบของเราได้ตลอดเวลา แต่เชื่อไหมว่า ในระหว่างที่กำลังเหงาๆ เบื่อๆ เราอาจจะกำลังสร้างมิตรภาพใหม่ ๆ ผ่านการเรียนและการทำงานแบบกลุ่มอยู่ก็ได้ คนเรามักไม่รู้ตัวว่าปฏิสัมพันธ์กับคนรอบข้างมีความสำคัญและมีประสิทธิภาพขนาดไหน หรือไม่ได้ใส่ใจคนรอบข้างมากพอ ลองสังเกตเพื่อนๆ และคนรอบตัวดูใหม่ เราอาจจะไม่ได้สนิทสนมกันในตอนนี้ แต่เชื่อเถอะ ธรรมชาติมีวิธีการคัดกรองคนที่เข้ามาในชีวิตเราอย่างค่อย ๆ เป็น ค่อ ยๆ ไป รู้ตัวอีกที น้องๆ อาจจะลืมความเหงาไปเลยก็ได้ ขอแค่เราใส่ใจคนอื่นก่อน
กินให้อิ่ม นอนให้อุ่น
อย่างที่บอกไปว่าความเบื่อ ความเหงา และอาการเศร้าอันเกิดจากการคิดถึงบ้าน อาจทำให้เรามีพฤติกรรมที่ unhealthy ได้ เช่น การดื่ม การสูบบุหรี่ เพื่อคลายเครียด กินอาหารขยะมากขึ้น กินผักน้อยลง หรือขี้เกียจออกกำลังกาย จนอาจนำไปสู่ภาวะเสี่ยงต่อโรคหัวใจและหลอดเลือด, อาการสมองเสื่อม และโรคซึมเศร้า ได้เลย แม้ว่าเรื่องของความเหงา จะไม่ใช่อาการทางจิตที่ผิดปกติ แต่ทั้งสองสิ่งนี้ก็มีความเกี่ยวเนื่องกันอย่างคาดไม่ถึงเช่นกัน
“การนอนหลับให้เพียงพอ” คือกุญแจสำคัญในการป้องการไม่ให้มันถลำลึก เข้าใจว่าชีวิตนักศึกษาแทบจะ 100% คือนอนดึก (หรือนอนเช้า) แล้วตื่นบ่าย แต่การนอนหลับให้เพียงพอในเวลาที่เหมาะสม สามารถเยียวยาได้หมดจริง ๆ ทั้งเรื่องของความเหนื่อยล้า วิตกกังวล และอาการจิตตก การดูแลตัวเองให้พักผ่อนให้เพียงพอและกินอาหารดีๆ ที่มีประโยชน์ต่อสุขภาพ จะช่วยป้องกันปัญหาทางอารมณ์ที่เกิดจากเคมีในร่างกาย และสามารถแก้ไขปัญหาที่อาจสะสมจนเกิดเป็นความวิตกในชีวิตประจำวันได้ ทั้งปัญหาสุขภาพ การเข้าเรียนสาย หรือไม่มีแรงบันดาลใจในการทำสิ่งต่าง ๆ เป็นต้น
หาเวลาพักจากการเรียนและการทำงาน
การตั้ง “เวลานอก” ให้ตัวเอง คือวิธีที่จะช่วยความเครียดและสร้างพื้นที่ให้เราได้ใช้เวลาในการได้สังสรรค์หรือเข้าสังคมอย่างที่ควรจะเป็น แม้ว่าการเรียนและการทำงานมันจะรัดตัวมากแค่ไหน แต่อย่างไรก็ต้องให้ความสำคัญกับการพักผ่อนบ้าง วางแผนและเพิ่มเวลาสำหรับพัก จะทำให้น้อง ๆ รู้สึกสบายใจว่ายังมีเวลาหายใจหายคอจากทุกภาระในชีวิต
โดยทั่วไป เกือบทุกมหาวิทยาลัยจะมีหน่วยงานที่ดูแลด้านปัญหาสุขภาพของนักศึกษาอยู่แล้ว และส่วนใหญ่จะเป็นบริการที่ฟรีสำหรับนักศึกษา เช่น การบำบัดและให้คำปรึกษาผ่านสายด่วนต่าง ๆ น้อง ๆ สามารถสอบถามจากที่ปรึกษาหรือผู้ดูแลถึงบริการต่างๆ ของมหาวิทยาลัย เผื่อเอาไว้ในเวลาที่เราอาจต้องการคำปรึกษาหรือคำแนะนำดี ๆ ในการใช้ชีวิตในรั้วมหาวิทยาลัยให้มีความสุขครับ
สำหรับน้อง ๆ ท่านใด ที่สนใจจะสมัครเรียนหรือต้องการทราบข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับที่พัก หรือมหาวิทยาลัยในสหราชอาณาจักร (UK) ก็สามารถ ลงทะเบียนเพื่อขอรับคำปรึกษาจากพี่ๆ ผู้เชี่ยวชาญด้านการศึกษาต่อของ SI-UK ได้ทุกวัน โดยไม่มีค่าใช้จ่ายใด ๆ ครับ
บทความอื่น ๆ ที่น่าสนใจ
เคล็ดลับการรับมือสัปดาห์แรกของน้องใหม่มหาวิทยาลัยใน UK
10 คำถามที่พบบ่อยๆ เกี่ยวกับชีวิตนักศึกษาในสหราชอาณาจักร (UK)