คำแนะนำดี ๆ จากคณะกรรมการสอบสัมภาษณ์ของ Oxford University ที่จะมาพูดถึงกระบวนการในการสัมภาษณ์ ข้อผิดพลาดที่พบบ่อย ๆ และวิธีการหลีกเลี่ยง
การสัมภาษณ์เพื่อเข้าเรียนโรงเรียนกฏหมายหรือคณะนิติศาสตร์ในมหาวิทยาลัยชั้นนำของสหราชอาณาจักร อาจเป็นเรื่องที่ชวนให้รู้สึกกังวลใจสำหรับหลายๆ คน ด้วยตัวหลักสูตรที่มีความเฉพาะด้าน ดังนั้น เราจึงหยิบเอาบทสัมภาษณ์จากเว็บไซต์ theguardian.com ที่จับเข่าคุยกับ Imogen Goold หนึ่งในคณะกรรมการร่วมสรรหาของ Faculty of law, Oxford University ผู้ซึ่งมีประสบการณ์ในการสัมภาษณ์ผู้สมัครมากว่า 12 ปี มาฝาก มาดูกันว่า คณะกรรมการจากมหาวิทยาลัยชั้นนำอย่าง Oxford นั้น เขามองหาอะไรในการสัมภาษณ์ผู้สมัครกันแน่
ผู้สมัครแบบไหนที่จะเหมาะกับโรงเรียนกฏหมายของ Oxford?
“หนึ่งในคุณสมบัติแรกๆ ที่เรามองหา นั่นคือผู้สมัครที่มีความสามารถในการวิเคราะห์อย่างละเอียด คนที่สามารถมองเห็นความแตกต่างระหว่างสิ่งต่างๆ และเข้าใจความเกี่ยวข้องของสิ่งนั้นๆ เราต้องการคนที่สามารถรับมือกับการอ่านตำราที่มีเนื้อหาที่หนักๆ ได้เป็นจำนวนมาก คนที่มีความยืดหยุ่นทางอารมณ์และสติปัญญา สามารถเข้ามาเรียนด้วยใจที่เปิดกว้างและคิดถึงสิ่งต่างๆ สามารถเปลี่ยนความคิด และวิเคราะห์ข้อมูลที่มีความหลากหลาย”
“นอกจากนี้ ก็ต้องเป็นคนที่สนใจในด้านกฏหมายจริงๆ รู้ว่ากฏหมายหรือนิติศาสตร์คืออะไร และมีความสำคัญยังไง มีผลกระทบยังไงต่อสังคมโดยรวม เพราะเรามองว่า คนที่มีความสนใจจริงๆ จะมีความมุ่งมั่นและแรงผลักดันไปสู่การมีส่วนร่วมกับโลกของนิติศาสตร์อย่างจริงจัง”
ผู้เข้ารับการสัมภาษณ์ควรมีการเตรียมตัวอย่างไร?
“บางครั้งผู้สมัครมักให้คำตอบสำเร็จรูปที่เตรียมมา และนั่นคือความผิดพลาดที่แท้จริงเลยละค่ะ เพราะเมื่อไหร่ที่ท่องจำมา พวกเขาก็จะไม่ค่อยฟังคำถามให้ชัดเจน แต่ดันไปกระตือรือร้นที่จะบอกเราว่าคำตอบที่เตรียมมานั้นเป็นสิ่งที่ขาดไม่ได้ ผู้เข้ารับการสัมภาษณ์ควรจะใช้สติ ฟังมากขึ้น ใช้เวลาและคิดอย่างถี่ถ้วนนะคะ”
คำถามในการสัมภาษณ์ส่วนใหญ่เป็นแบบไหน?
“ส่วนใหญ่เป็นคำถามเพื่อทดสอบการใช้สติปัญญาและความสามารถในการให้เหตุผล (reasoning) ค่ะ เรื่องหลักๆ ที่ผู้สมัครควรทำเพื่อเตรียมความพร้อมคือเรื่องของการฝึกแสดงความคิดเห็น (arguing) สิ่งที่ฉันมักจะบอกให้นักเรียนทำคือลองเลือกประเด็นที่จะนำมาถกเถียง อาจเป็นประเด็นทางกฎหมายหรือเรื่องอะไรก็ได้ จากนั้นลองพูดคุยหรือแสดงความคิดเห็นกับคนใกล้ตัว ถามตัวเองทำไมฉันคิดแบบนี้? ฉันสามารถให้เหตุผลที่ดีกว่านี้ได้หรือไม่? ถ้ามีคนซักถามข้อโต้แย้ง ก็ลองอธิบายเหตุผลที่เราไม่เห็นด้วยว่าเป็นเพราะอะไร พิจารณาดูว่าอะไรเป็นเหตุผล อะไรคือความแตกต่าง ทุกอย่างที่เกี่ยวกับสถานการณ์และมุมมองของเราควรได้รับการคอมเมนต์ เพื่อฝึกในเรื่องของการให้เหตุผลที่ดีที่สุด”
“นอกจากนี้ เรายังต้องการผู้ที่มีความสามารถในการใช้กฎหรือแนวคิด รวมถึงหลักการ และรู้จักปรับใช้สิ่งเหล่านี้ในทางปฏิบัติ เพราะนั่นแหละค่ะ คือสิ่งที่เราเรียกกันว่ากฎหมาย ตัวอย่างเช่น คุณอาจถูกขอให้อ่านข้อความจากเคสทางกฏหมายหนึ่งเคส แล้วอธิบายสิ่งที่ผู้พิพากษากำลังพูด และเกณฑ์ที่คุณคิดว่าเข้ากับกรณีดังกล่าว”
“เคล็ดลับสำหรับการตอบคำถามแบบนี้ คือการอ่านข้อมูลหลาย ๆ ครั้ง มองหาคำสำคัญหรือคีย์เวิร์ด และหาความหมายของคำนั้นๆ จากนั้นก็ลองเชื่อมโยงส่วนต่างๆ ของเนื้อเรื่องจากประโยคหนึ่งไปสู่ประโยคหนึ่งเข้าด้วยกัน และค้นหาข้อยกเว้นหรือสิ่งที่ขาดหายไป เป็นต้น”
อะไรคือข้อผิดพลาดที่ผู้สมัครมักทำซ้ำๆ ?
“ผู้เข้ารับการสัมภาษณ์ส่วนใหญ่มักคิดว่าเรากำลังลองภูมิหรือเล่นแง่ แต่ไม่ใช่เลยค่ะ สิ่งที่เราต้องการมากที่สุดคือให้ผู้สมัครทำให้ดีที่สุด หากว่าเรากำลังทำให้คุณรู้สึกกดดันหรือถามคำถามยากๆ ในระหว่างการสัมภาษณ์ นั่นคือเรากำลังช่วยให้คุณแสดงความสามารถออกมาให้มากที่สุดต่างหาก วิธีการตอบสนองที่เราแนะนำคือ ลองหายใจลึกๆ ทำใจให้สบายแล้วคิดตาม ทุกคำถามล้วนมีเหตุผลในการถามเสมอค่ะ ไม่ใช่เรื่องใหญ่หากว่าคุณจะรู้สึกประหม่า หรือรู้สึกว่ายังตอบได้ไม่ดี อยากเปลี่ยนคำตอบหรือขอตอบใหม่ แน่นอนค่ะ ว่าคุณสามารถทำได้ เพราะเราอยากให้ผู้สมัครนำเสนอแนวความคิดที่ดีที่สุดเท่าที่พวกเขามี”
แล้วถ้าหากผู้สมัครเกิดประหม่าขึ้นมาจริงๆ ล่ะ?
“ถ้าคุณรู้สึกประหม่าหรือกดดัน นั่นอาจหมายความว่าคุณกำลังทำได้ดีก็นะคะ เพราะหากผู้สมัครตอบคำถามได้ดี เราก็มักจะถามในเรื่องที่ยากและกดดันขึ้นเรื่อยๆ ในกรณีแบบนี้ ฉันมักจะให้ผู้สมัครได้นั่งทำสติและคิดคำตอบสักประมาณสองหรือสามนาทีก่อน หลายครั้งที่ฉันได้เห็นน้ำตาและอาการแพนิคหลายๆ รูปแบบ เราทุกคนต่างก็เคยผ่านการสัมภาษณ์ที่ยากและกดดันกันมาแล้วทั้งนั้น ดังนั้นไม่ต้องกลัวค่ะ ผู้สัมภาษณ์ทุกคนเข้าใจอารมณ์เหล่านั้นมาเป็นอย่างดี เราเจอมาเยอะ”
ควรแต่งกายยังไงในวันสอบสัมภาษณ์?
“บางคนอาจจะคุ้นเคยและสบายใจที่จะแต่งชุดสูทมาสัมภาษณ์ เช่นเดียวบางคนอาจจะรู้สึกอึดอัดและไม่เป็นตัวของตัวเอง แล้วเลือกที่จะใส่กางเกงยีนส์กับรองเท้ากีฬามา สิ่งที่ฉันอยากจะบอกคือ ฉันไม่สนว่าคุณจะใส่อะไร ฉันพยายามอย่างที่สุดที่จะมองผ่านสิ่งเหล่านั้น แต่ไปดูกันที่สมองหรือการวิเคราะห์วิจารณ์ของผู้สมัครแทน แต่ถ้าจะให้พูดรวมๆ ก็คือ สวมเสื้อผ้าที่ให้เกียรติตัวเอง สถานที่ และคนอื่น แต่งในแบบที่ตัวเองรู้สึกดีและมั่นใจในตัวเองค่ะ”
Study in the UK
สำหรับคนที่มีความฝัน หรือมุ่งมั่นที่จะเข้าศึกษาต่อในโรงเรียนกฏหมาย หรือคณะนิติศาสตร์ รวมถึงหลักสูตรอื่น ๆ ในมหาวิทยาลัยชั้นแนวหน้าของสหราชอาณาจักร สามารถลงทะเบียนขอรับคำปรึกษาจากผู้เชี่ยวชาญด้านการศึกษาต่อในสหราชอาณาจักรฟรี หรือใช้บริการ Oxbridge Service ของ SI-UK เพื่อเตรียมความพร้อมในการสมัครเข้าเรียนในมหาวิทยาลัยกลุ่ม Oxbridge ได้แล้ววันนี้
บทความอื่น ๆ ที่น่าสนใจ
คำแนะนำในการสมัครเรียนมหาวิทยาลัยกลุ่ม Oxbridge
5 คำถามที่ควรตอบตัวเองให้ได้ ก่อนตัดสินใจไปเรียนต่อที่ต่างประเทศ
วิธีเลือกหลักสูตรและคณะในมหาวิทยาลัย ให้ตรงกับใจและความต้องการมากที่สุด