การเขียน Literature review หรือเขียนทบทวนบทวรรณกรรม ถือเป็นสิ่งสำคัญในการศึกษาต่อปริญญาโท หรือการทำวิจัย สารนิพนธ์ น้อง ๆ นักศึกษาหลายคนอาจจะยังไม่แน่ใจ ว่าต้องเขียนยังไง มีวิธีอย่างไรให้เขียนได้ดี ๆ วันนี้พี่ ๆ จาก SI-UK ได้พร้อมที่จะคลายข้อสงสัยให้แล้วค่ะ
หลักการเขียน Literature Review
การเขียน Literature review ไม่ควรเขียนแบบเอามาต่อ ๆ กันแค่ว่าคนนั้นทำการศึกษาอะไร ในช่วงปีไหน ผลลัพธ์การศึกษาคืออะไร แล้วเรียงต่อกันหลาย ๆ ท่านกันไป แบบนั้นไม่ใช่การเขียน Literature review ที่ดีตามหลักสากล แต่ควรเขียนแบบมีการกลั่นกรองมาแล้ว อธิบายเป็นข้อ ๆ ดังนี้
1. รู้จักภาพรวม
ต้องรู้จักกับภาพรวมงานวิจัย สารนิพนธ์ที่เราทำ ว่าประเด็นที่มีการศึกษานี้คืออะไร ประเด็นไหนมีการศึกษามาก และประเด็นไหนมีการศึกษาน้อย เราต้องตอบให้ได้ก่อนว่าเราจะเขียนเน้นเรื่อง หัวข้อ ประเด็นอะไร ถึงจะเขียน literature review ได้ดี เล่าเรื่องความเป็นมาโดยสรุป สามารถเขียนสรุปได้หลายรูปแบบทั้ง สรุปตามหัวข้อย่อย หรือตามลำดับเวลา ยกตัวอย่าง จะเขียนในเรื่องวงการท่องเที่ยว ประมาณว่า ภาพรวมของการท่องเที่ยวชุมชน มีการศึกษาในเรื่องของการกระจายรายได้เป็นอย่างมาก แต่เรื่องการท่องเที่ยวที่มีต่อการลดความยากจนเป็นเรื่องที่มีการศึกษาน้อย
2. เปรียบเทียบประเด็น
เปรียบเทียบประเด็นที่มีข้อสรุป หรือมีหลักฐานแน่นหนา และประเด็นไหนยังไม่ได้ข้อสรุป หรือยังไม่มีหลักฐาน หรือต่างฝ่ายต่างอ้างหลักฐานมาคัดค้านกันอยู่ จากตัวอย่างเหตุการณ์ข้อแรก ประเด็นเรื่องการกระจายรายได้มีหลักฐานคือ จากการศึกษาจำนวนมากชี้ชัดไปในทางเดียวกัน ดูได้จากรายได้จากการท่องเที่ยวกระจายไปในชุมชน แต่ยังไม่มีหลักฐานบอกได้ว่าหลังจากเวลาผ่านไปการกระจายรายได้จะดีขึ้นหรือไม่ในชุมชนเดิม เพราะยังไม่ได้มีการศึกษาเปรียบเทียบในระยะเวลาต่อมา ส่วนประเด็นที่มีการศึกษาน้อยอ่างเรื่องของการท่องเที่ยวสามารถลดความยากจนได้หรือไม่ มีหลักฐานจากข้อมูลระดับจังหวัดบอกไว้ว่าลดได้จริง แต่ยังไม่มีการศึกษาที่มีหลักฐานในระดับหมู่บ้าน
3. ต้องรู้ว่างานของเราอยู่ในประเด็นไหน
ผู้เขียนต้องทราบว่างานที่ตัวเองทำนั้น อยู่ในประเด็นไหนต้องการค้นหาหลักฐานอะไรเพิ่มเติมในการศึกษาเพื่อมาเพิ่มน้ำหนักให้ฝ่ายไหน หากได้ผลการศึกษามาแล้วจะช่วยอะไรได้บ้าง ในบางกรณีของการสรุปผล ไม่จำเป็นว่าผลนั้นจะต้องเป็นทฤษฎีในโลจิสติกส์อย่างเดียว อาจจะเป็นศาสตร์อื่นที่เกี่ยวข้องอย่าง จิตวิทยา เศรษฐศาสตร์ ก็ได้
4. เรื่องที่เราศึกษามีผู้เคยทำมาหรือไม่
ปัญหาเรื่องที่เรากำลังทำวิจัยนี้เคยมีผู้ทำหรือไม่ ถ้ามีเขาตอบคำถามว่าอย่างไร ตอบไว้ได้ดีแล้วหรือไม่ เรื่องไหนที่ยังตอบไม่ชัดเจน มีคนอื่นตอบคำตอบที่ขัดแย้งหรือไม่ ถ้ายังไม่มี ก็สามารถบอกได้ว่างานของเราเป็นงานใหม่จริง ๆ
ตำแหน่งที่ควรเขียน Literature Review
Literature review (การทบทวนวรรณกรรม) ควรเขียนไว้ในช่วงแรกๆ ของผลงาน วิจัย สารนิพนธ์เพื่อบอกว่าใครทำอะไรไว้แล้ว ประเด็นไหนที่มีการศึกษาไว้มากแล้ว จะได้ไม่ต้องทำซ้ำ และประเด็นไหนที่ยังมีการศึกษาน้อย ยังไม่มีคำตอบ ยังมีการโต้เถียงขัดแย้ง และยังไม่ได้ข้อสรุป หลักฐานยังไม่แน่นหนา เราจึงหยิบประเด็นนี้มาเขียนต่อในการวิจัย การเขียน Literature review นั้นมีประโยชน์มากในช่วงต้นของรายงาน จะทำให้เห็นช่องว่างทางวิชาการ (Gaps in Literature) ที่เราจะสามารถเข้าไปทำวิจัยได้ ทำให้มีหัวข้อวิจัยนั่นเอง หัวข้อและเรื่องจะเป็นตัวดึงดูดความสนใจจากผู้ให้ทุนวิจัยได้อีกด้วย เขียนดีมีชัยไปกว่าครึ่งนะคะ
ในช่วงท้ายของงานที่เป็นการอภิปรายผลการศึกษา พยายามที่จะสร้างความแตกต่างในผลงานของตัวเองด้วย เพื่อให้ผู้อื่นได้รู้สึกว่างานของเราสร้างความรู้ใหม่ ๆ ไม่ใช่ว่างานของเราไปคล้ายกับงานที่มีอยู่แล้ว หรือถ้าคล้ายก็ต้องหาเหตุผลมาอธิบายว่าผลการศึกษาของเราไม่เหมือนกับของผู้ที่ทำไว้อย่างไร สามารถอ้างอิงผลงานของท่านอื่นเพื่อใช้สนับสนุนคำอธิบายได้ หรืออาจจะใช้เป็นข้อเปรียบเทียบกับผลการศึกษาของเรา
Literature review ที่ดี
- ไม่ลอกเลียนบทความของผู้อื่นมาเป็นผลงานของตัวเอง
- อ่านแล้วต้องสรุปได้ว่าผู้เขียนสื่อถึงเรื่องอะไร literature review นั้นมีประเด็นอะไรบ้าง ทั้งประเด็นที่มีการศึกษามาก และประเด็นที่มีการศึกษาน้อย เพราะแต่ละเรื่องราวมีรยละเอียดที่ต่างกัน ผู้เขียนต้องตัดสินใจแน่วแน่และใช้ทักษะการเขียนที่ดีผลิตผลงานขึ้นมา
- เห็นถึงความเข้ารู้ ความเข้าใจของผู้เขียน เมื่อตัดสินใจได้ว่าจะทำเรื่องอะไร ก็จะเกิดความอยากศึกษาในเรื่องนั้น หาข้อมูล หรือสอบถามบุคคลที่เกี่ยวข้อง พยายามเอาตัวเองเข้าไปในเรื่องนั้น ใช้เวลาอ่าน สังเกตการณ์ คิด จนเข้าใจอย่างซาบซึ้ง
- อภิปรายผลการศึกษาในตอนท้ายได้ว่าเทียบเคียงกับผลงานของใครได้บ้าง เพื่อเป็นการพิสูจน์ว่าผลงานวิจัยของเราได้สร้างความรู้ใหม่
- Literature review นั้นแสดงถึงช่องว่างทางวิชาการ ที่ผู้เขียนเห็นแล้วสามารถเป็นส่วนช่วยหาคำตอบของช่องว่างนั้น และคาดการณ์ได้ถึงอนาคตว่าจะเป็นอย่างไร
Study in the UK January 2021
หากน้อง ๆ ต้องการทราบข้อมูลเพิ่มเติม หรือต้องการสมัครเรียนในมหาวิทยาลัยระดับท็อปของ UK รอบมกราคม ปี 2021 และเรายังมีบริการ Fast Track ฟรี! ทุกขั้นตอน สามารถลงทะเบียนเพื่อรับคำแนะนำจากผู้เชี่ยวชาญของ SI-UK ได้แล้วตั้งแต่วันนี้
บทความอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง
เปิดวาร์ป 3 หลักสูตรสุดปังรอบ Jan 2021 จาก University of Exeter
Queen Mary University of London เปิดแล้ว! Jan Intake 2021 ทุกหลักสูตร LLM
เปิดแล้ว! หลักสูตร Finance Jan Intake 2021 ที่ University of Leicester