ความเชื่อผิด ๆ เกี่ยวกับชีวิตของนักศึกษาในสหราชอาณาจักร มีมานานนับตั้งแต่การเกิดมหาวิทยาลัยโน่นเลยทีเดียว ตั้งแต่สมัย Medieval หรือยุคกลาง นักศึกษาถูกมองว่าเป็นพวกขี้เกียจสันหลังยาว ขี้เมาและหัวขบถ และแม้ว่าในปัจจุบัน ภาพลักษณ์หลาย ๆ อย่างของนักศึกษาจะเปลี่ยนแปลงไป แต่ก็มีภาพของนักศึกษาผู้ยากไร้ ประทังชีวิตด้วยชาและถั่วกระป๋องเข้ามาแทนที่ หรือคนนอกสหราชอาณาจักร ก็จะมีภาพลักษณ์ของมหาวิทยาลัยว่าต้องอลังการแบบโรงเรียนฮ็อกว็อตส์ ในหนังชุด แฮร์รี่ พ็อตเตอร์ แต่อย่างไรก็ตาม ไม่มีมีใครปฏิเสธว่า สหราชอาณาจักรเป็นสถานที่ที่เหมาะสำหรับการศึกษาทุกระดับ ต่อไปนี้คือ 5 ความเชื่อผิด ๆ เกี่ยวกับชีวิตนักศึกษาใน UK ที่เราอยากให้ความกระจ่าง เพื่อความสบายใจของใครหลาย ๆ คน ที่กำลังวางแผนจะเรียนต่อที่สหราชอาณาจักรครับ
ความเชื่อ #1 นักศึกษาใน UK ดื่มหนักมาก!
ว่ากันว่า เด็กมหาวิทยาลัยใน UK มีชื่อเสียงในด้านสำมะเลเทเมา ชอบที่จะไปสิงตามแหล่งบันเทิงยามราตรีเป็นหลัก แต่หลายคนอาจลืมไปว่า ยังมีอีกหลายๆ สิ่ง หลายๆ อย่าง เกิดขึ้นในมหาวิทยาลัยด้วยเช่นกัน หากไนท์คลับไม่ใช่ของน้อง ๆ หรือรู้สึกอยากทำอย่างอื่น ก็ยังมีสถานที่และกิจกรรมอีกมากมายที่น้องๆ สามารถมีส่วนร่วมได้โดยไม่ต้องยุ่งเกี่ยวกับแอลกอฮอล์ หลาย ๆ มหาวิทยาลัย มีแม้กระทั่งที่พักปลอดแอลกอฮอล์สำหรับนักศึกษาที่ไม่ได้เอนจอยกับการปาร์ตี้และการดื่ม เพราะอย่าลืมว่า ไม่ใช่เรื่องจำเป็นที่เด็กมหาวิทยาลัยทุกคนจะต้องชื่นชอบกิจกรรมอะไรแบบนั้น
ความเชื่อ #2 Fresher’s Week เป็นช่วงเวลาของความสุดเหวี่ยง
น้องๆ หลายคนอาจจะยังไม่ทราบว่า Fresher's Week คืออะไร Fresher's Week เป็นช่วงเวลาก่อนที่มหาวิทยาลัยจะเปิดภาคเรียน ซึ่งเด็กมหาวิทยาลัยจะได้รับเชิญให้ไปงานเลี้ยงสังสรรค์ กิจกรรมทางสังคมต่าง ๆ และย้ายเข้าหอพัก เป็นโอกาสอันดีที่จะทำความรู้จักกับเพื่อนใหม่ ๆ และเพลิดเพลินกับเสรีภาพแบบเด็กมหาวิทยาลัย (ที่หลาย ๆ คนอาจจะเพิ่งได้รับ) คนจำนวนมากชอบ Fresher's Week แต่ไม่ใช่ทุกคน บางคนก็ไม่ชอบความวุ่นวายและเสียงดังอึกทึก ดังนั้น หากน้อง ๆ ได้รับความเดือดร้อน รำคาญจากการปาร์ตี้ในช่วง Fresher's Week ก็สามารถร้องเรียนและขอความช่วยเหลือจากผู้ดูแลหอพักและเจ้าหน้าที่ของมหาวิทยาลัยได้เช่นเดียวกัน (อ่าน 5 เคล็ดลับการเอาชีวิตรอดในหอพัก สำหรับเด็กมหาวิทยาลัยในต่างประเทศ เพิ่มเติม)
ความเชื่อ #3 เรียนที่ UK ต้องใช้ชีวิตอย่างอัตคัดขัดสน
ก็จริงที่นักเรียนส่วนใหญ่ใน UK ต้องอยู่กินกันอย่างประหยัด แต่ก็ไม่ได้จำกัดจำเขี่ยถึงขนาดต้องกินชากับอาหารกระป๋องทุกมื้ออย่างที่ลือ ๆ กันขำ ๆ มหาวิทยาลัยประกอบไปด้วยผู้คนที่หลากหลาย ขนาดความหนาของกระเป๋าสตางค์ของนักศึกษาก็เช่นเดียวกัน ตรงกันข้าม นักศึกษามหาวิทยาลัย โดยเฉพาะเด็กต่างชาติ มักขึ้นชื่อเรื่องใช้จ่ายอย่างมือเติบ นั่นก็เป็นเหตุผลว่าทำไมหลาย ๆ คนจึงต้องกระเบียดกระเสียรหรือประหยัดทุกวิถีทางในช่วงปลายเดือนบ่อย ๆ จนถูกเมาท์ การไปเรียนที่ UK ไม่ได้หมายความว่าเราต้องปวดหัวเรื่องเงิน ๆ ทอง ๆ เสมอไป ยังมีอีกหลาย ๆ ทางเลือกในการควบคุมค่าใช้จ่าย เช่น การเลือกมหาวิทยาลัยและที่พักที่เหมาะสมกับบัดเจ็ทของเราเป็นต้น (อ่าน 10 มหาวิทยาลัยในอังกฤษ ที่มีค่าเทอมไม่แพงอย่างที่คิด! เพิ่มเติม)
ความเชื่อ #4 ไปเรียน UK เดี๋ยวก็ได้แฟนกลับมา เชื่อสิ!
โอเค เรื่องนี้เกิดขึ้นกับบางคน และก็เป็นสิ่งที่เยี่ยมยอด ถูกมะ แต่ถ้ามันไม่เกิดขึ้นกับเรา ก็ไม่ต้องเฟลไป เรื่องแบบนี้มันก็ต้องใช้เวลาบวกกับความพยายามอีกสักหน่อย คนสองคนถึงจะคลิกกันได้ แล้วไม่มีเหตุผลอะไรที่จะต้องตั้งหน้าตั้งตาหาแต่แฟนอย่างเดียว ในเมื่อเราสามารถมีเพื่อนได้มากมายเป็นขโยง ในสหราชอาณาจักรมีสังคมของนักศึกษาจำนวนมาก สำหรับคนที่มีความสนใจคล้ายๆ กัน นักเรียนต่างชาติมักจะพบสังคมที่เต็มไปด้วยผู้คนจากประเทศของตัวเอง เช่นคนไทยก็จะมีชมรมของนักศึกษาไทย รวมถึงกิจกรรมต่างๆ ครอบคลุมทุกอย่างตั้งแต่ ชมรมคนรักช็อกโกแลต ไปจนถึงคนคลั่งกีฬาควิดดิช (จาก แฮร์รี่ พ็อตเตอร์) ต่อให้ไม่มีแฟน น้องๆ ก็ไม่มีเวลาจะมานั่งเหงาหรอก เชื่อสิ
ความเชื่อ #5 ถ้าไม่สลบเหมือดคาเตียง แปลว่าเรายังขยันเรียนไม่พอ
การเรียนในมหาวิทยาลัยที่ UK ไม่ได้โหดหรือหินขนาดนั้น แต่ที่อดหลับอดนอนกันเป็นเพราะปาร์ตี้หนักหรือมีนิสัยชอบอยู่จนดึกซะมากกว่า ตามคติ ‘work hard, play hard’ ก็เหมือนกับทุกมหาวิทยาลัยในโลก ที่ทุกคนก็ควรเอาใจใส่ในการเรียนและทบทวนบทเรียน แต่อย่ากดดันตัวเองมากไป มองการเรียนให้เหมือนการวิ่งมาราธอน ไม่ใช่การวิ่งเร็วม้วนเดียวจบแบบการวิ่ง Sprint ค่อย ๆ ก้าวอย่างมั่นคง ยังไงก็ถึงเส้นชัย พักผ่อนให้เพียงพอ หรือถ้าไม่ไหวจริง ๆ ก็หาเวลางีบช่วงกลางวันบ้างเพื่อชาร์ตแบต (อ่าน 9 ทางลัดช่วยเรื่องเรียนในต่างประเทศ ที่หาได้ง่ายๆ ในอินเทอร์เน็ต เพิ่มเติม)
Study in the UK
สำหรับน้อง ๆ ที่ต้องการข้อมูลหรือต้องการสมัครเรียนในระดับมหาวิทยาลัยที่ประเทศอังกฤษหรือ UK สามารถ ลงทะเบียนเพื่อขอรับคำปรึกษาจากผู้เชี่ยวชาญของ SI-UK ได้ตั้งแต่วันนี้ โดยไม่มีค่าใช้จ่ายครับ
บทความอื่น ๆ ที่น่าสนใจ