หากพูดถึงมหาวิทยาลัยระดับ Top และชื่อเสียงโด่งดังระดับโลก จะไม่พูดถึงมหาวิทยาลัย 2 แห่งนี้ก็คงไม่ได้ เชื่อว่าน้อง ๆ หลายคนต้องรู้จักมหาวิทยาลัยในสหราชอาณาจักร ทั้งสองแห่งนี้อย่างแน่นอน นั่นก็คือ มหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ด (University of Oxford) และ มหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ (University of Cambridge)
มหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ด และมหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ มีความคล้ายคลึงกันในหลายๆ ด้าน ไม่ว่าจะเป็นในเรื่องของโครงสร้างการบริหาร การเรียนการสอนแบบเฉพาะบุคคล และความมั่งคั่งของทรัพยากรทางการศึกษา ฯลฯ นอกจากนี้ ทั้งสองมหาวิทยาลัย ยังมีความร่วมมือกันในหลายกิจกรรม เช่น การประชุมทวิภาคี หรือ Oxford and Cambridge Student Conferences ซึ่งเป็นการประชุมแลกเปลี่ยนข้อมูลระหว่างนักศึกษาของทั้งสองสถาบัน อันถือเป็นอีเวนท์สำคัญในแวดวงการศึกษาระดับอุดมศึกษาของอังกฤษอีกงานหนึ่ง
นอกเหนือจากที่กล่าวมาแล้วนั้น ยังมีความเหมือนและความแตกต่างระหว่างทั้งสองสถาบัน ที่ขึ้นชื่อว่าเป็นมหาวิทยาลัยที่ทรงอิทธิพลมากที่สุดในสหราชอาณาจักรอีกบ้าง มาหาคำตอบไปพร้อมๆ กันเลยค่ะ
ระบบวิทยาลัย (Colleges)
ทั้งมหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ดและเคมบริดจ์ เป็นมหาวิทยาลัยที่ประกอบขึ้นจากการรวมตัวของวิทยาลัยต่างๆ ที่มีความเป็นเอกเทศ วิทยาลัยแต่ละแห่งจะเป็นเหมือนบ้านของนักศึกษาและเป็นศูนย์กลางของการเรียนการสอนของแต่ละสาขาวิชา ซึ่งนักศึกษาจะใช้เวลาส่วนใหญ่ในวิทยาลัยของตัวเอง (เช่นเดียวกับคณะต่างๆ ในบ้านเรา) แต่ละวิทยาลัยก็จะมีนักศึกษาหลากหลายระดับ แต่โดยทั่วไปก็จะมีทั้งที่เป็น Undergraduate และ Graduate students
ข้อดีของระบบวิทยาลัยคือ การเป็นชุมชนทางด้านวิชาการที่มีขนาดเล็ก จัดการดูแลกันได้อย่างทั่วถึง นักศึกษาจะสามารถเข้าถึงทรัพยากรและสิ่งอำนวยความสะดวกของวิทยาลัยได้ง่าย เช่น ห้องสมุดและบริการด้านไอที แต่ในขณะเดียวกัน ก็ยังสามารถใช้ทรัพยากรส่วนกลางของมหาวิทยาลัย และให้ความรู้สึกเป็นส่วนหนึ่งของมหาวิทยาลัยขนาดใหญ่และมีชื่อเสียงในระดับโลกอยู่
แต่ละวิทยาลัยของออกซ์ฟอร์ดและเคมบริดจ์ มีเรียนการสอนที่ยอดเยี่ยมและมีมาตรฐานการศึกษาที่สูงมาก ข้อดีอีกอย่างหนึ่งก็คือ ระบบนี้ช่วยให้ผู้สมัครสามารถเลือกวิทยาลัยที่สนใจได้มากกว่า 1 วิทยาลัยในมหาวิทยาลัยเดียวกัน ซึ่งผู้สมัครอาจถูกเรียกสัมภาษณ์หรือได้รับ offer จากวิทยาลัยมากกว่า 1 แห่งก็ได้
การเรียนการสอน (Teaching)
ระบบการเรียนการสอนของทั้งสองมหาวิทยาลัยมีความคล้ายคลึงกันค่อนข้างมาก คือนอกจากนักศึกษาจะได้เรียนในรูปแบบทั่วๆ ไป เช่น การเข้าห้องเรียน (Classes) การบรรยาย (Lectures) และการทำแล็ป (Laboratory work) แล้ว ที่ไม่เหมือนมหาวิทยาลัยอื่นๆ โดยทั่วไปคือ University of Oxford และ University of Cambridge มีการเรียนการสอนแบบเฉพาะกลุ่มหรือเฉพาะบุคคล หรือ personalised teaching กับผู้เชี่ยวชาญในแต่ละสาขา ต่างกันแค่ชื่อเรียก โดยที่อ็อกซ์ฟอร์ดจะเรียกวิธีการเรียนการสอนแบบนี้ว่า ‘Tutorials’ ในขณะที่เคมบริดจ์จะเรียกกันติดปากว่า ‘Supervisions’
โดยทั้ง ‘Tutorials’ และ ‘Supervisions’ ผู้เรียนจะต้องเตรียมการเรียงความหรืองานชิ้นอื่น ๆ ที่ได้รับมอบหมายล่วงหน้า จากนั้นได้พบกับอาจารย์ผู้สอน เพื่อหารือเกี่ยวกับงานชิ้นดังกล่าวแบบตัวต่อตัว หรือกับผู้เรียนคนอื่นอีกหนึ่งหรือสองคน โดยจำกัดเฉพาะนักศึกษาที่มีความเชี่ยวชาญพิเศษ มีคุณสมบัติที่เหมาะสม หรือมีประสบการณ์เท่านั้น ดังนั้นนี่จึงเป็นสิ่งที่มีค่ามากสำหรับนักศึกษาของทั้งสองสถาบัน เพราะมันคือโอกาสสำคัญในการพัฒนาความเข้าใจในหัวข้อ และการได้พบปะกับผู้เชี่ยวชาญที่ทรงคุณวุฒิของมหาวิทยาลัย เพื่อสร้างสายสัมพันธ์อันดี ซึ่งหมายถึงอนาคตในแวดวงวิชาการ
การประเมินผลการเรียน (Assessment)
ที่อ็อกซ์ฟอร์ดและเคมบริดจ์ นักศึกษาจะได้รับการประเมินอย่างไม่เป็นทางการตลอดหลักสูตร ผ่านชิ้นงานที่ถูกส่งถึงอาจารย์ผู้สอนหรืออาจารย์ที่ปรึกษาหัวข้อ ซึ่งโดยปกติจะจัดขึ้นทุกสัปดาห์ ส่วนการประเมินอย่างเป็นทางการก็คือผลการสอบ และการทำวิทยานิพนธ์ในปีสุดท้ายของการเรียนนั่นเอง
ส่วนที่แตกต่างกันคือ ที่อ็อกซ์ฟอร์ด การจะได้เกียรตินิยมหรือไม่ ขึ้นอยู่กับผลการสอบในเทอมสุดท้ายของการเรียน ตรงกันข้ามกับเคมบริดจ์ ที่จะพิจารณาโดยใช้ผลการเรียนมากกว่าหนึ่งปีขึ้นไปในแต่ละหลักสูตร
คุณสมบัติของผู้สมัครเข้าเรียน (Entry requirements)
อย่างที่ทราบกันดีว่า การสมัครเรียนในมหาวิทยาลัยชั้นนำในสหราชอาณาจักรนั้น ต้องมีผลการเรียนในระดับ A-level หรือ International Baccalaureate (IB) นอกจากนี้ยังอาจมีข้อกำหนดเฉพาะสำหรับหลักสูตรเฉพาะอื่นๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสาขาวิทยาศาสตร์หรือการแพทย์
Entry requirement for University of Oxford
เกณฑ์สำหรับมหาวิทยาลัยอ็อกฟอร์ด คือ มีผล A-level ระหว่าง A*A*A และ AAA (ขึ้นอยู่กับสาขาวิชา) หรือผล IB ตั้งแต่ 38 - 40 พร้อมกับคะแนน core points
Entry requirement for University of Cambridge
ส่วนที่มหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ จะต้องได้ A*A*A สำหรับหลักสูตรในสาขาวิทยาศาสตร์ (ยกเว้นสาขา Psychological and Behavioural Sciences) และ A*AA หรือ IB 40 -41 สำหรับหลักสูตรด้านศิลปศาสตร์ พร้อมคะแนน core points เช่นกัน
Ranking
นอกจากมหาวิทยาลัยอ็อกฟอร์ดและเคมบริจด์จะเป็นมหาวิทยาลัยที่ดีที่สุดในประเทศอังกฤษ แต่สองสถาบันนี้ก็ยังมีชื่อเสียงไปทั่วโลก โดยมีการจัดอันดับต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็น QS World University Rankings ซึ่งปี 2022 มหาวิทยาลัย Oxford กับมหาวิทยาลัย Cambridge อยู่ในอันดับที่ 2 และ 3 ตามลำดับ
มากไปกว่านั้น Times Higher Education (THE) จัดอันดับสองมหาวิทยาลัยนี้ โดยมหาวิทยาลัย Oxford อยู่ที่อันดับ1 และ มหาวิทยาลัย Cambridge อยู่ที่อันดับ 5 ในปี 2022
สนใจไปเรียนต่อที่ UK
หากน้อง ๆ คนไหนสนใจวางแผนไปเรียนต่อต่างประเทศ อย่างประเทศอังกฤษหรือสหราชอาณาจักร สามารถมาลงทะเบียนรับคำปรึกษาบริการเรียนต่ออังกฤษฟรี จากพี่ ๆ SI-UK ได้ตั้งแต่วันนี้ค่ะ