ระบบการศึกษาของสหราชอาณาจักร มีทั้งส่วนที่คล้ายและแตกต่างจากบ้านเราอย่างสิ้นเชิง ทั้งในเรื่องกระบวนการ ระบบการคัดเลือก และการเรียกหรือการใช้ศัพท์ ที่อาจพาให้งงได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเรื่องของการแบ่งประเภทสถาบันการศึกษา ซึ่งต้องอาศัยการทำความเข้าใจพอสมควร สำหรับน้อง ๆ ที่มีความประสงค์ที่จะไปศึกษาต่อในสหราชอาณาจักร
Secondary School vs College
อย่างแรกเลย เราต้องทำความเข้าใจก่อนว่า บางส่วนของ UK และเป็นส่วนที่ใหญ่มาก เช่นในอังกฤษ เวลส์ และไอร์แลนด์เหนือ มักไม่ค่อยใช้คำว่า Highschool เมื่อพูดถึงการศึกษาในระดับมัธยม แต่จะใช้คำว่า Secondary School แทน คำว่า Highschool จะพบได้ในบางส่วนของสก็อตแลนด์ ซึ่งเป็นต้นกำเนิดของศัพท์คำว่า Highschool เท่านั้น ดังนั้นเราจึงขอเรียกการศึกษาในระดับมัธยมด้วยคำว่า Secondary School ตามระบบอังกฤษแล้วกันนะครับ
ทั้งนี้ ระบบมัธยมศึกษาของอังกฤษกับไทย ก็ต่างกันอีกนั่นแหละ เพราะมัธยมปลายภาคบังคับหรือ Key Stage 4 ของอังกฤษเรียนกันแค่ 2 ปี (Year 10 – 11 เทียนบเท่า ม.6 ของไทย) หากต้องการจะศึกษาต่อในระดับอุดมศึกษา จะต้องศึกษาต่ออีกประมาณ 2 ปี ในระดับ A Level (Advanced Level) หรือ ระดับ The International Baccalaureate (IB) Diploma
กลับมาที่ระบบการศึกษาของอังกฤษและ UK กันใหม่ ข้อแตกต่างที่สำคัญอันดับแรก ก็จะคล้าย ๆ กับในเมืองไทย คือ Secondary School หรือโรงเรียนมัธยม จัดอยู่ใน the statutory education system หรือการศึกษาภาคบังคับ ในขณะที่ College หรือวิทยาลัยนั้น เป็น the optional further education (FE) หรืออยู่ในระบบการศึกษาทางเลือกเพิ่มเติม นั่นเอง ยกตัวอย่างก็อย่างเช่น พวกวิทยาลัยชุมชน วิทยาลัยการอาชีพ และวิทยาลัยช่าง หรือวิทยาลัยทางเลือกในกำกับของมหาวิทยาลัย เป็นต้น
อีกความแตกต่างคือเรื่องของอายุผู้เรียน Secondary School (มัธยม) เป็นระบบการศึกษาภาคบังคับ ส่วนใหญ่ผู้เรียนจะอยู่ใช่วงอายุ 11-16 ปี ทั้งนี้โรงเรียนบางแห่งอาจจะมี Sixth form centres ที่สอน GCSEs และ A-Level สำหรับนักเรียนอายุ 16 -19 ปีด้วย แต่ใน College (วิทยาลัย) เด็กส่วนใหญ่จะจบการศึกษาภาคบังคับแล้ว และมีอายุเกิน 16 ปี วิทยาลัยบางแห่งก็จัดให้มีหลักสูตรการศึกษาสำหรับผู้ใหญ่ หรือ Adult Education Courses สำหรับผู้ใหญ่ทุกช่วงวัย และให้โอกาสนักเรียนที่อายุเกิน 16 ปี ที่ตอนเรียน Secondary School แล้วไม่มีโอกาสได้เรียน A Levels หรือ GCSEs ได้เรียนเพื่อนำคะแนนไปใช้สมัครในระดับอุดมศึกษาได้ด้วย
คือในขณะที่โรงเรียนมัธยมปลายมุ่งเน้นไปที่ความต้องการของนักเรียนและผู้ปกครองโรงเรียนเป็นส่วนใหญ่ แต่วิทยาลัยหรือการศึกษาทางเลือก มีแนวโน้มที่จะเป็นศูนย์กลางในการเรียนรู้ของชุมชน นำเสนอบริการต่าง ๆ เช่นหลักสูตรพิเศษ หลักสูตรสายอาชีพและหลักสูตรภาคค่ำ เพื่อให้ผู้ใหญ่ที่สนใจที่จะศึกษาต่อได้มีโอกาสไปต่อไป เรียงลำดับให้เห็นง่าย ๆ ก็คือ
- ม.ต้น หรือระดับ Key Stage 3 (Year 7 – 9)
- ม.ปลาย Key Stage 4 (Year 10 – 11)
- วิทยาลัย หรือ Sixth Form Colleges (เรียน A -Level, pathways)
- มหาวิทยาลัย
นอกจากนี้ ปัจจุบัน วิทยาลัยทางเลือกหลายแห่ง ยังมี degree-level courses ซึ่งร่วมกันกับมหาวิทยาลัยต่าง ๆ เพื่อเป็นทางเลือกสำหรับผู้ที่ต้องการศึกษาต่อในระดับอุดมศึกษา (higher education) ที่อยากเรียนใกล้บ้าน และอื่น ๆ อีกมากมาย
College vs University
อย่างที่กล่าวไปแล้วว่า ใน UK เมื่อเรียนจนจับชั้นมัธยมเมื่ออายุ 16 ปี จากนั้นเด็กจะเลือกเข้าเรียนวิทยาลัยหรือโรงเรียนที่สอน sixth form (A-Level) จากนั้นจึงเข้าเรียนในมหาวิทยาลัย
ในระดับอุดมศึกษาหรือในระดับมหาวิทยาลัยนั้น เราจะพบกับ College หรือวิทยาลัย ในอีกรูปแบบหนึ่ง ที่ไม่ได้มีลักษณะเป็นสถาบันการศึกษาทางเลือก แต่เป็นสถาบันการศึกษาในระดับอุดมศึกษา หรือเป็นสถาบันการศึกษา ซึ่งมีฐานะที่เป็นส่วนหนึ่งหรือเป็นหน่วยงานในกำกับของวิทยาลัยอีกที มหาวิทยาลัยแบบนี้จะเรียกกันว่าเป็น collegiate universities หรือมหาวิทยาลัยที่ประกอบจากวิทยาลัยต่าง ๆ รวมเข้าด้วยกัน เช่น Oxford, Cambridge หรือ Durham โดยแต่ละวิทยาลัยจะเป็นอิสระในฐานะวิทยาเขตหรือเป็นแคมปัสของใครของมัน มีลักษณะเป็นแบบคณะต่าง ๆ คล้ายในไทย วิทยาลัยต่าง ๆ ถือเป็นส่วนหนึ่งของมหาวิทยาลัย แต่มีการบริหารจัดการเองภายใน มีสังคม วัฒนธรรม และสิ่งต่าง ๆ ที่เป็นลักษณะเฉพาะของตัวเอง
ความแตกต่างที่สำคัญระหว่างวิทยาลัยและมหาวิทยาลัย คือการที่คุณจะต้องพึ่งพาบุคลากรอย่างครูหรืออาจารย์น้อยลง และรับผิดชอบสิ่งต่างๆ ด้วยตัวเองเองมากขึ้น แม้ว่าจะมีอาจารย์คอยช่วยเหลืออยู่บ้าง แต่ก็ไม่มีใครคอยจ้ำจี้จ้ำไช เพราะการเรียนในมหาวิทยาลัยจะเน้นที่ตัวของนักศึกษาเป็นหลัก การจัดการเวลาให้เกิดประสิทธิภาพจึงเป็นเรื่องที่สำคัญมาก
Apply to Study in the UK
สำหรับน้อง ๆ ท่านใด ที่สนใจจะสมัครเรียนหรือต้องการทราบข้อมูลเกี่ยวกับมหาวิทยาลัยในสหราชอาณาจักร (UK) ก็สามารถ ลงทะเบียนเพื่อขอรับคำปรึกษาจากพี่ๆ ผู้เชี่ยวชาญด้านการศึกษาต่อของ SI-UK ได้ทุกวัน โดยไม่มีค่าใช้จ่ายใดๆ ครับ
บทความอื่นๆ ที่น่าสนใจ
Checklist!! เอกสารสมัครเรียนต่ออังกฤษ มีอะไรบ้างนะ?
10 คำถามที่พบบ่อยๆ เกี่ยวกับชีวิตนักศึกษาในสหราชอาณาจักร (UK)
15 มหาวิทยาลัยใน UK ที่ใครๆก็ไปเรียนได้ ไม่จำเป็นต้องมีคะแนน UCAS สูง ๆ