ชีวิตในรั้วมหาวิทยาลัย เป็นเรื่องที่โลดโผน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง มหาวิทยาลัยในต่างประเทศ เมื่อเราต้องเข้าไปใช้ชีวิตอยู่ในหอพักสำหรับนักศึกษา ต้องดูแลตัวเองตั้งแต่หัวจรดเท้า แถมยังต้องแชร์พื้นที่กับเพื่อนร่วมห้องและร่วมตึก มันก็ฟังดูน่าตื่นเต้นดูอยู่หรอก แต่ปัญหาก็เยอะพอกัน
สำหรับน้อง ๆ ที่กำลังเตรียมตัวพบกับประสบการณ์เด็กหอ นี่คือเคล็ดลับ 5 ข้อ ที่อาจจะเป็นประโยชน์อย่างยิ่งในอนาคตครับ
#1 เตรียมใจรับมือกับ “เสียงรบกวน”
มันเป็นเรื่องที่หลีกเลี่ยงไม่ได้จริง ๆ เมื่อต้องอยู่ร่วมกับเพื่อนใหม่วัยคะนองทั้งตึก แม้ว่าหอพักเกือบทุกแห่งจะมีกฏหรือข้อกำหนดเกี่ยวกับเรื่องของเสียงไว้อย่างเป็นลายลักษณ์อักษรแล้วก็ตาม ต่อให้ไม่มีใครส่งเสียงหรือเปิดเพลงเสียงดัง แต่เสียงรบกวนอื่น ๆ เช่น เสียงรถราบนท้องถนน เสียงเดิน เสียงกรนของรูมเมท ฯลฯ ก็อาจรบกวนโสตประสาทของน้อง ๆ อยู่นั่นเอง คำแนะนำที่ดีที่สุดคือ ทำใจให้ชินกับเสียงชวนหนวกหูต่าง ๆ ซะ
SURVIVAL TIP: ซื้อ earplugs หรือที่อุดหูมาไว้ใช้ เผื่อมีวันไหนที่เราต้องการการพักผ่อนจริง ๆ
#2 “ความเป็นส่วนตัว” คืออะไรเหรอ?
ช่วงเวลาของการเป็น freshmen คือช่วงเวลาที่เราจะได้ค้นพบสัจธรรมที่ว่า เป็นเรื่องยากที่จะหาเวลาที่เป็นส่วนตัว โดยเฉพาะอย่างยิ่งในหอพัก ที่ไม่ใช่แค่เราต้องแชร์ห้องกับรูมเมทเท่านั้น แต่ต้องแชร์เกือบทุกด้านของพื้นที่ชีวิต หากมองในแง่ดี มันก็คือการฝึกการใช้ชีวิตแบบ communal style แต่ถ้าใครที่คุ้นเคยกับการอยู่ในบ้านที่มีพื้นที่ส่วนตัวเป็นสัดเป็นส่วนก็อาจจะรู้สึกขัดใจอยู่บ้าง
SURVIVAL TIP: ถ้าเบื่อคนเยอะเรื่องแยะ ลองมองหาพื้นที่ที่เราสามารถใช้เวลาส่วนตัวจากที่อื่นแทน เช่น ห้องสมุด ร้านกาแฟสงบๆ หรือสวนสาธารณะ เป็นต้น เพื่อโฟกัสกับความรู้สึกนึกคิดของตัวเองเงียบ ๆ
#3 เตรียมตัวพร้อมเจอกับ “คน” ทุกประเภท เท่าที่เราจะจินตนาการได้
มหาวิทยาลัยคือที่สำหรับพบปะผู้คนหน้าใหม่ ๆ การมองโลกในแง่ดีว่าจะเจอคนน่ารักๆ นิสัยดี ๆ มันดีอยู่แล้วแหละ แต่โอกาสที่จะเจอคนนิสัยแย่ ๆ ก็ไม่น้อยเลยเหมือนกัน เมื่อใครสักคนอยู่ห่างไกลจากบ้าน จากครอบครัว และ support system ที่คุ้นเคย พอเจอเรื่องอะไรที่ทำให้รู้สึกอึดอัดหรือไม่สบายใจ จากคนที่ปกติเคยใจเย็น ก็อาจกลายเป็นคนอารมณ์ร้ายได้ทันทีเหมือนกัน
SURVIVAL TIP: ใช้ “สติ” รู้เท่าทันอารมณ์ของตัวเองให้ได้ การอยู่ร่วมกันกับคนร้อยพ่อพันแม่ ต่างที่มา ต่างวัฒนธรรมหรือความเชื่อ เราต้องใช้ “สติ” เท่านั้นจริง ๆ คิดให้รอบคอบ ก่อนด่วนตัดสินใครสักคน หากต้องเจอหรืออยู่ร่วมกับคนที่เรารู้สึกว่าเขาคือ “ตัวปัญหา” อยู่ทุกเมื่อเชื่อวัน (แต่หนีกันไม่พ้น ต้องเจอทั้งในคลาสหรือที่หอพัก) ต้องรู้จักวิธีประนีประนอม หรือถ้าไม่โอเคจริง ก็ยายามเลี่ยงหรือหลีกให้ห่างซะ อย่าไปมีเรื่อง จะได้ไม่คุ้มเสีย
#4 ตุนเสบียงเอาไว้
เรื่องของอาหารการกิน ถือเป็นเรื่องใหญ่สำหรับใครหลาย ๆ คน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เด็กไทยที่กินยากหรือขี้เบื่อ เมื่อไม่มีใครคอยเตรียมเรื่องอาหารการกินให้ ก็ถึงเวลาต้องลงมือด้วยตัวเอง ทำไม่เป็นก็อาจต้องหัดให้เป็น อีกอย่างหนึ่งคือ เด็กหอมักนอนกันดึกถึงดึกมาก ควรตุนเสบียงเอาไว้ให้เพียงพอสำหรับมื้อดึก ลองหาวิธีประหยัด ๆ ในการตุนอาหารแห้งหรือเครื่องปรุงจากร้านของชำใกล้ๆ บางแห่งอาจมีส่วนลดสำหรับนักศึกษาด้วย
SURVIVAL TIP: เรื่องที่พบว่าเป็นปัญหาบ่อยๆ ระหว่างรูมเมทก็คือ “การโขมยอาหาร” ของกันและกัน คนต่างชาติจะค่อนข้างซีเรียสกับเรื่องแบบนี้มากๆ ทางที่ดี ควรตกลงหรือบอกกันล่วงหน้าว่า อะไรที่แชร์ได้ และอะไรที่ไม่แชร์ หรือจะตั้งเสบียงกองกลาง เช่น พวกขนมขบเคี้ยว ระหว่างน้อง ๆ กับรูมเมทไว้ก็ได้ โดยผลัดกันซื้อมาเติม และใครก็สามารถมาหยิบไปกินได้เรื่อย ๆ
#5 ตีซี้กับ RA เอาไว้ ดีที่สุด
RA หรือ Residential Advisor (RA) หรือผู้ดูแลหอพัก เป็นอะไรที่ใกล้เคียงกับ “ผู้ปกครอง” ที่สุดแล้วในหอพัก ซึ่งโดยส่วนใหญ่มักจะเป็นรุ่นพี่ที่ทางมหาวิทยาลัยจ้างให้ทำหน้าที่ RA เพื่อดูแลความเรียบร้อยทั้งหมดในหอพัก และด้วยเหตุนี้ RA จึงมีอำนาจหนือ freshmen ทั้งหมด แต่อย่าลืมว่าพวก RA ก็เป็นนักศึกษาเหมือนเราๆ และพวกเขาก็กำลังบาลานซ์ระหว่างการเรียน การทำงานในฐาน RA และชีวิตส่วนตัว ดังนั้นอย่าพยายามไปสร้างเรื่องปวดหัวหรือสร้างภาระ เพราะ RA ก็อาจทำความยุ่งยากให้กับชีวิตน้อง ๆ ได้เช่นเดียวกัน
SURVIVAL TIP: เราไม่จำเป็นต้องทำตัวเป็น BFF (Best Friend Forever) กับ RA แต่พยายามอย่าไปทำอะไรให้เคืองเชียว น้องๆ ควรไปแนะนำตัวเองให้ RA รู้จักในวันย้ายเข้าหอ ทักทายเมื่อเจอ ชวนคุยบ้าง ให้เขาจำได้ว่าเราอยู่ชั้นไหน ห้องอะไร พูดง่าย ๆ ว่าสร้างความประทับใจนั่นแหละ ทีนี้ พอมีปัญหาอะไรเกิดขึ้นระหว่างที่อาศัยอยู่ในหอพัก RA จะได้เต็มใจช่วยเหลือเราอย่างเต็มที่
การพยายามจัดการกับปัญหาต่าง ๆ ในการอยู่ร่วมกับผู้อื่น เป็นเพียงหนึ่งในประสบการณ์มหาวิทยาลัยที่ทุกคนต้องพบเจอ แต่สิ่งที่สำคัญที่สุดคือการทำความเข้าใจกับกฏระเบียบขั้นพื้นฐานเพื่อรู้จักปรับตัว ขอเพียงน้อง ๆ มีความตั้งใจ เรียนให้หนัก เล่นให้สนุก ทุกอย่างจะเข้าที่เข้าทางเองในไม่ช้าครับ
Study in the UK
สำหรับน้อง ๆ ที่ต้องการข้อมูลหรือต้องการสมัครเรียนในระดับมหาวิทยาลัยที่ประเทศอังกฤษหรือ UK สามารถลงทะเบียนเพื่อขอรับคำปรึกษาจากผู้เชี่ยวชาญของ SI-UK ได้ตั้งแต่วันนี้ โดยไม่มีค่าใช้จ่ายครับ
บทความอื่น ๆ ที่น่าสนใจ
10 เรื่องน่ารู้สำหรับนักเรียนไทย ก่อนไปใช้ชีวิตอยู่ที่อังกฤษ