ใครที่มีความฝันอยากไปเรียนต่อต่างประเทศ รีบมามุงตรงนี้เลยค่ะ ต้องบอกก่อนว่าการสมัครเข้าศึกษาต่อในต่างประเทศนั้น ผู้สมัครจำเป็นต้องเขียน SOP หรือ Statement of Purpose (ถึงแม้ว่าการใช้คำที่เรียกอาจจะต่างกัน แต่โดยส่วนมากทางมหาวิทยาลัยจะใช้คำดังต่อไปนี้ เช่น Essay (ลองดู 4 เทคนิคการเขียน essay แบบมืออาชีพ) , Personal Statement, Letter of Intent, Personal Narrative เป็นต้น) ซึ่งความยาวของ SOP จะเริ่มตั้งแต่ 250 คำ จนถึง 750 คำ (ประมาณ 1- 3 หน้า)
SOP คืออะไร?
Statement of Purpose หรือ SOP ก็คือ เรียงความ บทความที่ทำให้มหาวิทยาลัยได้รู้จักเรามากขึ้น ซึ่งเป็นส่วนที่สำคัญมากในการพิจารณารับเข้าเรียนของสถาบันต่างๆ และ 99% ของมหาวิทยาลัยในต่างประเทศ มักจะกำหนดให้ผู้สมัครเขียน SOP ด้วยค่ะ เห็นไหมคะว่า SOP นี้สำคัญขนาดไหน แล้วเราจะเขียนอย่างไร ให้ถูกใจกรรมการผู้พิจารณารับนักศึกษาเข้าเรียนให้มากที่สุด เรามาดูเทคนิควิธีการเตรียมความพร้อมก่อนเขียน SOP ให้ออกมาโดนใจกรรมการกันเลยดีกว่า!
ตั้งเป้าหมายในการเขียนให้ชัดเจน
โดยทั่วไปแล้วเป้าหมายหลักในการเขียน SOP ก็เพื่อที่จะทำให้คณะกรรมการ,เจ้าหน้าที่, หรือผู้คัดเลือกนักศึกษาประทับใจในความสามารถของผู้สมัครเรียน จนรู้ว่า น่ารับเราเข้ามาเรียน ! ดังนั้น เราต้องแสดงความสามารถที่เขาเห็นถึงคุณสมบัติ ความสามารถ มีแรงจูงใจที่ดี ที่จะทำให้เราประสบความสำเร็จได้ ซึ่งเป้าหมายในการเขียนของเรานี้ ต้องยึดมั่นไว้ และพยายามแสดงเป้าหมายนี้ให้ครอบคลุมอยู่ในเรียงความของเราทั้งหมด
เน้นเขียนในสิ่งที่คณะกรรมการต้องการจะทราบ
น้องๆ ควรพยายามตอบคำถามให้ครบทุกข้อ วิเคราะห์คำถามและคำแนะนำในการเขียน SOP ที่ทางมหาวิทยาลัยกำหนดให้ละเอียด ถึงแม้ว่าคำถามหรือคำตอบอาจอยู่ในรูปแบบที่ต่างกันก็ตาม แต่โดยส่วนมากแล้วคณะกรรมการคัดเลือกมักจะให้ความสำคัญกับสิ่งต่อไปนี้
- จุดมุ่งหมายในการศึกษา ซึ่งแสดงให้เห็นเป้าหมายของเรา และทำให้คณะกรรมการทราบว่า เราต้องการจะศึกษาต่อไปเพื่ออะไร
- สาขาวิชาที่ต้องการศึกษาต่อ แสดงให้เห็นถึง เรารู้ว่าสาขาวิชานี้สอนอะไร เราถึงได้ตัดสินใจมาสมัคร และเราต้องการที่จะมีความเชี่ยวชาญในด้านใดเป็นพิเศษ เช่น จะเลือกเอกอะไร
- เราจะนำความรู้ที่ได้ไปใช้ประโยชน์ต่อไปอย่างไรในอนาคต ควรระบุเป้าหมายและแผนการทำงานในอนาคต ซึ่งข้อนี้เป็นอะไรที่สำคัญมากๆ เพราะมหาวิทยาลัยย่อมต้องการนักเรียนที่จบไปแล้วจะเป็นศิษย์เก่าที่เป็นหน้าเป็นตาให้กับมหาลัยได้ เช่น ได้งานที่ดี สร้างประโยชน์ให้สังคม หรือสามารถสร้างชื่อเสียงให้กับมหาวิทยาลัยได้ในอนาคตนั่นเองค่ะ
- การเตรียมตัวและความพร้อมสำหรับการศึกษาต่อ นี่เป็นโอกาสที่ดีในการที่จะใช้ความรู้ที่เคยเรียนมาบวกกับประสบการณ์ ต่างๆ ในการที่จะแสดงให้คณะกรรมการเห็นว่าเรานั้นเป็นผู้สมัครที่พร้อมสุดๆ ที่จะเข้าศึกษาคณะนี้!
- อธิบายปัญหา หรือจุดด้อยของเราให้กระจ่าง หากว่ามีข้อบกพร่อง เช่น มีเกรดเฉลี่ยสะสมไม่สูงนัก ตรงนี้เป็นจุดที่เราจะได้แก้ต่างให้กับตนเองค่ะ เช่น ที่เรามีเกรดเฉลี่ยไม่ดี อาจจะเพราะว่า เราเป็นคนที่มีความถนัดทางด้านภาษา แต่มีวิชาบังคับเป็นวิชาคำนวนที่เราไม่ถนัดมาดึงเกรด เป็นต้น
- อาจจะเจอคำถามประมาณว่าเพราะสาเหตุใดถึงเลือกสมัครกับมหาวิทยาลัยแห่งนี้ น้องๆจำเป็นต้องหาข้อมูลเกี่ยวกับมหาวิทยาลัย และตอบคำถามให้ได้ว่าทำไมถึงสนใจมหาวิทยาลัยนี้เป็นพิเศษ
- แสดงความเป็นตัวเราให้คณะกรรมการได้เห็น คณะกรรมการจะไม่ทราบอะไรเกี่ยวกับตัวเราเลย หากเราไม่ใส่ความเป็นตัวเองลงใน SOP อย่าลืมว่าเราคือหัวข้อหลักในงานเขียนนี้
วางโครงสร้าง SOP ชัดเจนและครอบคลุม
วางแผนการตอบคำถามจากสิ่งที่คณะกรรมการต้องการทราบทั้งหมด ออกมาในรูปของเรียงความให้ดี โดยเราอาจจะวางเป็นโครงสร้างประมาณนี้ (เป็นแค่แนวทางนะคะ น้องๆสามารถนำไปประยุกต์ได้ค่ะ)
ย่อหน้าที่ 1 – อธิบายสาเหตุหรือแรงจูงใจในที่ทำให้เราเลือกเรียนสาขาวิชานี้ อาจจะอธิบายว่าคณะนี้เกี่ยวข้องความสนใจของเรา หรือประสบการณ์ที่เราเคยผ่านมาอย่างไร
ย่อหน้าที่ 2 – อธิบายว่าหลักสูตรที่เราต้องการจะสมัครเรียนนี้ มีความสำคัญต่อตัวเราอย่างไร พยายามแสดงให้เห็นว่าเรามีความเข้าใจในขอบเขต เนื้อหาวิชา (แสดงให้เห็นว่าเราได้ไปทำการค้นคว้า/อ่านรายละเอียดมาอย่างถี่ถ้วนแล้ว) และเรามีความสนใจหลักสูตรนี้จริงๆ
ย่อหน้าที่ 3 – บอกเล่าเกี่ยวกับประวัติของเรา ทั้งเรื่องการศึกษา การทำงาน หรือประสบการณ์ที่เรามีที่เกี่ยวข้องกับสาขาวิชานั้นๆ ซึ่งแสดงให้เห็นว่าเราเป็นผู้สมัครที่มีความพร้อม และเหมาะสมที่จะเข้าเรียนในสาขาวิชานั้นๆมากที่สุด
ย่อหน้าที่ 4 – เป็นย่อหน้าสุดท้าย เขียนแสดงเป้าหมายของเราว่า หลังจากที่เรียนจบแล้ว เราจะนำความรู้ที่ได้มานั้นไปทำอะไร เช่น อธิบายว่าการเรียนสาขาวิชานี้จะช่วยส่งเสริมเราในอาชีพที่เราอยากทำในอนาคต และจะสร้างประโยชน์ให้กับตัวเอง สังคม ประเทศชาติของเราอย่างไร
เป็นเพียงตัวอย่างแนวทางโครงสร้างเท่านั้นนะคะ น้องๆไม่จำเป็นที่จะต้องยึดตามนี้เป๊ะ เช่นเราอาจจะมีเรื่องประสบการณ์ที่อยากพูดถึงเยอะ ก็มีส่วนที่อธิบายคุณสมบัติของเราหลายย่อหน้าก็ได้ หรืออยากจะเอาประวัติของเราขึ้นก่อนในย่อหน้าแรกก็ไม่ผิด เพียงแต่อย่าลืมวางแผนว่าเราจะเขียนเรื่องอะไรบ้าง
เขียนให้ตรงประเด็น ชัดเจน
จุดนี้เป็นจุดที่หลายๆคนพลาดกันมาก เพราะพยายามที่จะใช้ภาษายากๆ หรือแต่งประโยคที่มีความซับซ้อนเกินไป (แล้วก็ใช้อย่างผิดๆ เช่น ผิดไวยากรณ์ ใช้คำศัพท์สูงๆที่ไม่เข้ากับประโยคที่เขียน) ทำให้อ่านแล้วสะดุดและดูหลอกๆ ดังนั้นจึงควรใช้คำที่เรามีความคุ้นเคย แม้จะไม่ได้ใช้คำศัพท์สวยหรู แต่ก็สามารถสื่อสารได้อย่างมีประสิทธิภาพจะดูดีกว่าเยอะเลยค่ะ หลายๆคนยังเข้าใจผิด คิดว่าการเขียนเรียงความยิ่งยาวยิ่งดี นี่เป็นความเข้าใจที่ผิดอย่างมากเลยค่ะ สิ่งที่คณะกรรมการมองหา ไม่ใช่เรียงความยาวๆที่มีเนื้อหาที่ไม่เกี่ยวข้อง แต่พวกเขาต้องการเรียงความที่มีความชัดเจน สื่อถึงตัวตนผู้สมัครได้อย่างน่าสนใจมากกว่าค่ะ
อ่านทวนเรียงความเพื่อตรวจทานข้อมูล
ขั้นตอนสุดท้ายที่จะทำให้งานเขียนของเราออกมาดีที่สุดก็คือการตรวจทานค่ะ ยิ่งตรวจทานหลายๆรอบยิ่งดี และยิ่งมีคนอื่นๆช่วยอ่านให้เราด้วยยิ่งดีที่สุด เพราะบางครั้งเราเขียนเองอาจจะไม่พบข้อบกพร่องในบางจุด ดังนั้นการให้คนอื่นช่วยอ่านจึงเป็นสิ่งที่จะช่วยได้ค่ะ นอกจากนี้ สำหรับใครที่ไม่เก่งภาษาหรือไม่แน่น grammar ลองหาผู้ช่วยตรวจเรื่องภาษาของเราด้วย อาจจะเป็นคุณครู ญาติผู้ใหญ่ หรือรุ่นพี่ที่มีความเชี่ยวชาญด้านภาษามากกว่าเรา หรือหากใครไม่มีคนช่วยจริงๆ ลองเอางานเขียนของเราไปเช็คตามเว็บไซต์ที่ตรวจ grammar ดูก็ได้ค่ะ
Study in the UK
หวังว่าน้อง ๆ คงจะพอได้เคล็ดลับในการเขียน SOP กันแล้วนะคะ ยังไงพี่ ๆ จาก SI-UK ก็ขอเป็นกำลังใจให้ทุกคนเขียน SOP ออกมาได้ดีและถูกใจกรรมการกันทุกคนเลยนะคะ สำหรับน้อง ๆ ที่ต้องการข้อมูลหลักสูตร หรือ ต้องการสมัครเรียนในระดับมหาวิทยาลัยที่ประเทศอังกฤษหรือ UK สามารถลงทะเบียนเพื่อขอรับคำปรึกษาจากผู้เชี่ยวชาญของ SI-UK ได้ตั้งแต่วันนี้ โดยไม่มีค่าใช้จ่าย
บทความอื่น ๆ ที่น่าสนใจ
เขียน SOP หรือ Statement of Purpose ยังไงให้โปรไฟล์ของคุณดูโดดเด่น